ช่างซ่อมบำรุงคืออะไร?

เกี่ยวกับช่างซ่อมบำรุง

ในยุคของเทคโนโลยีที่มีความล้ำสมัยมากขึ้น การที่คนเราคิดค้นเครื่องจักร หรือวัตถุสำหรับช่วยเหลือในการทำงานแบ่งเบา หรือผลิตชิ้นงานได้มากขึ้น การผลิตกระแสไฟฟ้า หรือวัตถุดิบในการใช้งานมีมากขึ้น นั่นย่อมทำให้เกิดอาชีพหนึ่งขึ้นมา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นจะต้องมีคนที่จะต้องแก้ปัญหาหากเกิดข้อผิดพลาด หรือการชำรุดเกิดขึ้น นั่นคือ “ช่างซ่อมบำรุง” นั่นเอง 

ช่างซ่อมบำรุง แบ่งไปตามแขนงต่างๆ มากมาย ขอยกตัวอย่างเล็กน้อย ได้แก่ ช่างซ่อมบำรุงไฟฟ้า ช่างซ่อมบำรุงประปา ช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักร เป็นต้น 

คำว่าช่างนั้นแน่นอนว่าต้องมีความชำนาญงานอย่างพอควร และมีความรู้และประสบการณ์ในสายงานต่างๆ อย่างพอสมควร เพราะงานช่างซ่อมบำรุงจะเป็นงานที่ต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้น ซ่อมเครื่องหรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้ใช้งานได้เป็นอย่างดีเสมอ นั่นจึงทำให้องค์กรต่างๆ ต้องมีตำแหน่ง หรือ แผนก “ช่างซ่อมบำรุง” เกิดขึ้น 

ดังนั้นเลยขอหยิบยกเรื่องเกี่ยวกับงานซ่อมบำรุงมาให้ได้รู้จักกันมากขึ้น

งานซ่อม และงานบำรุงรักษา คืออะไร?
คือ “การพยายามรักษาสภาพของเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ
ให้มีสภาพที่พร้อมจะใช้งานอยู่ตลอดเวลา”

โดยปกติถ้าพูดถึงงานซ่อม หลักการคือ การถอด การรื้อ เปลี่ยนอะไหล่ด้านใน แล้วประกอบกลับมาใช้ให้เหมือนเดิม และการบำรุงรักษาก็คือการไปทำกิจกรรมต่างๆเกี่ยวกับเครื่องจักร ตามรอบ และแผนที่กำหนด เพื่อยืดอายุการใช้งาน ความมั่นใจ และประสิทธิภาพในเครื่องจักร เช่น การเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง การเปลี่ยนจาระบี เป็นต้น

โดยจุดมุ่งหมายของงานซ่อม และบำรุงรักษา คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นควรจะน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการให้เครื่องจักรสามารถใช้งานตลอดเวลาเมื่อฝ่ายผลิตต้องการ และใช้งานด้วยความมั่นใจที่สุด หรือถ้าพูดในเชิงทฤษฎีคือ Down time = 0 และ อีกเหตุผลหลักๆอีกข้อหนึ่งคือ ในแง่ความปลอดภัย เป็นหลักนะครับ ซึ่งขณะใช้งาน ผู้ใช้งานเครื่องจักรจะต้องไม่ได้รับอันตรายใดๆซึ่งเกิดจากการพังเสียหายของเครื่องจักร และอุปกรณ์ครับ

ประเภทต่างๆของงานบำรุงรักษา
ความจริงแล้ว งานบำรุงรักษาสามารถแบ่งได้มากมายหลายชนิดมากๆเลยครับ แต่เราขอมาพูดถึงประเภทหลักๆ เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลักๆคือ

01. Reactive Maintenance
Reactive maintenance หรือ “การซ่อมบำรุงเชิงรับ” เป็นประเภทงานซ่อมในแบบเชิงรับซึ่งความหมายของงานซ่อมชนิดนี้จริงๆ ก็สมชื่อเลยนะครับ คือ การรอรับมือกับเครื่องจักรที่พังเข้ามาในทุกๆวัน
โดยหลักการของงานซ่อมบำรุงประเภทนี้คือใช้งานเครื่องจักรจนเครื่องจักรพัง (Run to fail) แล้วหลังจากนั้นค่อยซ่อมกลับมาให้ใช้ได้ใหม่

ดังนั้นช่างซ่อมในโรงงานก็คอยรับมือกับเครื่องจักรพังในทุกๆวัน ทางทีมซ่อมก็จะมีหน้าที่เข้าไปแก้ไขปัญหานั้นให้เสร็จสิ้นเพื่อที่จะทำให้การผลิตสามารถเดินไปต่อได้ครับ

โดยประเภทงานซ่อมที่เข้าไปแก้ไขเครื่องจักรที่พังอยู่ ให้กลับมาใช้งานได้ เราจะเรียกว่า CM หรือ Corrective Maintenance นะครับ หรือบางที่จะใช้คำว่า BM (ไม่เป็นที่นิยมเรียกแล้ว) หรือ Break down maintenance ครับ

ซึ่งส่วนใหญ่เครื่องจักรเสียหายอยู่แล้ว (ฺBreak down) ถ้าเป็นแบบนี้ทางทีมซ่อมต้องรีบหยิบประแจเข้าไปแก้ไขให้เร็วที่สุด ซึ่งในโรงงานหากงานประเภทนี้เยอะๆนะครับ วันหนึ่งวันแทบไม่ต้องทำอะไรเลยนั่งซ่อมเครื่องจักรกันอย่างเดียว

งานซ่อมแบบนี้ทุกโรงงานไม่ค่อยชอบแน่นอนครับ เพราะว่า จะได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งค่าซ่อม และโอกาสที่เสียไปสำหรับการผลิตสินค้าต่างๆครับ

แต่ก็สามารถลดได้หากมีแผนงานซ่อมอีกสองแบบหลังที่ดี หรือการบริหารเชิงวิศวกรรมที่ดี

02. Preventive Maintenance
Preventive Maintenance หรือ การบำรุงรักษาเชิงป้อง โดยความหมายคือ เป็นการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน โดยจะเข้าไปทำกิจกรรมงานซ่อมต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องจักรพัง โดยที่ไม่ได้วางแผนเอาไว้ครับ

โดยขอเล่าเป็นประวัติ timeline นะครับเพื่อความเข้าใจ ในยุคโรงงานแรกๆเนี่ย โรงงานก็จะเป็นแบบแรกคือ Reactive maintenance โดยจะเดินเครื่องจักรไปเรื่อยๆจนมันพัง พอเครื่องจักรพังเสร็จก็รีบไปซ่อม พอซ่อมเสร็จก็กลับไปใช้ และวนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ ครับ

แต่ว่า เพื่อนๆรู้มั้ยครับ “เวลาเราปล่อยเครื่องจักรพังเลยเนี่ย ค่าซ่อมมันจะแพงกว่าที่เรารีบซ่อมก่อนที่มันจะพัง” และเรื่องประสิทธิภาพเวลาเราซ่อมก่อนที่มันจะพังเนี่ยประสิทธิภาพก็จะดีกว่า เพราะว่า ชิ้นส่วนด้านในเครื่องจักรที่สำคัญยังไม่พังเสียหายมากครับเวลาเรารีบเข้าไปซ่อมก่อน

ดังนั้นโรงงานจึงวางแผนซ่อม และบำรุง ก่อนที่เครื่องจักรตัวนั้นจะพัง เพราะต้นทุนงานบำรุงรักษา ความน่าเชื่อถือ และประสิทธิภาพของตัวเครื่องจักรในโรงงานจะดีกว่า โดยจะกำหนดเวลาที่เหมาะสมเข้าไป บำรุงรักษา และซ่อม

ยกตัวอย่างเช่นมีปั้ม 1 ตัว เราอาจจะกำหนดแผน การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันทุก 6 เดือน และถอดออกมาซ่อม (Overhaul) ทุกๆ 4 ปีเป็นต้นครับ

03. Proactive Maintenance
Proactive maintenance หรือ การบำรุงเชิงรุก เรียกได้ว่าเป็นที่สุดในการกำหนดกลยุทธ์ในการซ่อม และบำรุงรักษา (บนสุดของยอดพีระมิดงานซ่อม) ซึ่งจะเป็นการผสมผสานงานซ่อมทั้งในแบบ Reactive maintenance และ Preventive maintenance โดยใช้ศาสตร์ในการคาดการณ์ Predictive Maintenance และ Condition base monitoring มากำหนดช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดในการเข้าไปซ่อม เพื่อลดต้นทุนงานซ่อมให้มากที่สุดครับ

ขอยกตัวอย่างอย่างง่ายจะหัวข้อเมื่อกี้นะครับ ที่เราจะตัดสินใจซ่อมปั้มทุก 4 ปี คำถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าไวเกินไป หรือช้าเกินไป ซึ่งล้วนแล้วแต่กระทบต่อต้นทุนผลิตของโรงงานทั้งนั้น ดังนั้น Proactive maintenance จะเป็นคำตอบสำหรับโรงงานที่จะลดต้นทุนในงานซ่อม อย่างเหมาะสมที่สุด (Cost Optimization)

โดย Proactive maintenance จะเข้าไปจัดการถึงต้นตอของปัญหาเครื่องจักรจริงๆ (Root cause of machine failure) เพราะในหลายๆโรงงานจะมีเครื่องจักรบางตัวพังบ่อยๆ ปีนึงหลายๆครั้ง หรือที่เราเรียกว่า Bad actor ซึ่งการเสียหายบ่อยๆ อาจจะเกิดตั้งแต่การทำ engineering และการออกแบบไม่เหมาะสมตั้งแต่แรกทำให้ซ่อมเท่าไหร่ก็ไม่หาย เป็นต้นครับ

หรือการเข้าไปวัดคุณภาพของเครื่องจักร ณ เวลานั้นจริงๆ ว่าถึงเวลาสมควรแล้วรึยังที่ต้องซ้อม หรือที่เรียกว่า CBM หรือ Condition Base Monitoring เช่นงานวัด Vibration monitoring เป็นต้นครับ

ซึ่งรวมไปถึงการเก็บข้อมูลต่างๆ ในงานซ่อม ไม่ว่าจะเป็นอายุใช้งานเครื่องจักร เวลางานซ่อม ค่าซ่อม ต่างๆ เพื่อมาใช้วิเคราะห์เชิงสถิติ ในระบบคอมพิวเตอร์ หรือ ระบบ CMMS (Computerized Maintenance Management System) เพื่อนำมากำหนดกลยุทธ์ และวิเคราะห์ปัญหางานซ่อมโดยองค์รวมครับผม

ขอบคุณที่มาข้อมูล : #นายช่างมาแชร์